มนุษย์ทุกคนเกิดมาต้องแสวงหาปัจจัยยังชีพเพื่อเลี้ยงดูครอบครัว ปัจจุบันภาวะรายได้น้อย ค่าแรงต่ำ ต้องใช้เงินมากเพื่อซื้อสินค้าแต่ข้าวของที่ได้มาไม่มากพอนับเป็นปัญหาสำหรับการดำเนินชีวิตมิใช่น้อย บางทีปัญหาอาจเกิดมาจากเหตุผลบางประการ เราลองย้อนกลับมามองดูตัวเองหรือไม่ว่าสาเหตุหลักที่แท้จริงแล้วอะไรที่ทำให้ริสกีถึงลดลงหรือไม่เพิ่มขึ้นเลย
“อ.อัดนาน (อัศวิน) มินกาเซ็ม” อาจารย์ประจำวิชาฟิกฮฺ โรงเรียนอิสลามสันติชน และคอเต็บประจำมัสยิดอัตตั๊กวา (คลองสองต้นนุ่น) ได้มาบอกถึง “12 สาเหตุที่ทำให้ริสกีลดลง” ซึ่งเหตุผลบางประการอาจไม่มีหลักฐานโดยตรงว่า จะทำให้ลดริสกี แต่นักวิชาการให้มองมุมกลับกันโดยใช้หลักการ มัฟฮูมอัลมุคอละฟะฮฺ เมื่อไม่ทำสิ่งนี้จะเกิดสิ่งนั้น (หมายถึงสาเหตุทำเกิดผลกระทบดังกล่าวนั่นเอง)
- ไม่ช่วยเหลือเอาใจใส่ดูแลเด็กกำพร้า
อัลลอฮฺ(ซบ.) ได้ตรัสไว้ ความว่า “ส่วนเด็กกำพร้านั้นพวกเจ้าก็จงอย่ากดขี่ข่มเหงพวกเขา” (อัดดุฮา : 9) การดูแลช่วยเหลือเด็กกำพร้าเป็นคุณลักษณะของมุสลิมที่จะเพิ่มอีหม่านให้แก่ท่าน จะทำให้ท่านไปอยู่ใกล้ชิดกับนบี (ซ.ล.) ในสวรรค์ ถ้าหากเราริสกีน้อยลงไม่เพิ่มขึ้นลองมาใส่ใจเด็กกำพร้า อาจทำให้รับชีวิตเงินทองดีขึ้น
- ไม่ส่งเสริมและขัดขวางการช่วยเหลือดูแลคนยากคนจน
อัลลอฮฺตะอาลา ได้ตรัสไว้ความว่า “แท้จริงเราได้ทดสอบพวกเขา ดั่งเช่นที่เราได้ทดสอบบรรดาเจ้าของสวน เมื่อพวกเขาสาบานว่าจะเก็บเกี่ยวผลของมันในยามรุ่ง” (ซูเราะห์อัลกอลัม 17)
ดังเรื่องราวของชาวสวนที่พระองค์ทรงกล่าวถึงในซูเราะห์อัลกอลัมดังนี้ เรื่องมีอยู่ว่า…
ในสมัยก่อนมีคนดี(ซอและห์) คนหนึ่ง เป็นเจ้าของสวนที่อุดมสมบูรณ์มีผลไม้มากมายเกือบทุกชนิดที่เป็นที่นิยมในยุคนั้น และพืชผลของสวนนั้นก็มีมากจนล้นเหลือในทุกๆ ฤดู แต่เนื่องจากผู้ที่เป็นเจ้าของสวนผู้นี้เป็นคนซอและห์ รู้บุญคุณของอัลลอฮฺ(ซบ.) ในฐานะที่พระองค์เป็นผู้ทรงให้ ชายซอและห์คนนี้จึงกตัญญูต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) เสมอ และการกตัญญูต่อพระองค์นั้นทำให้ตัวเขามีความรักใคร่ต่อผู้ที่ขัดสนและยากจน ไม่เคยละเลยที่จะบริจาคส่วนหนึ่งของผลผลิตในสวนของเขาให้แก่ผู้ที่อนาถาและขัดสน ยิ่งไปกว่านั้น เขายังประกาศให้บรรดาผู้ที่ขัดสนและยากจนเหล่าจนได้ทราบถึงวันที่เขาจะเก็บพืชผลในสวนของเขา ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นได้มารับส่วนแบ่งที่เป็นทาน(ซอดะเกาะห์) ก่อนที่ผู้เป็นเจ้าของสวนจะเอาพืชผลกลับไปยังบ้านของเขา
ครั้นเมื่อผู้ที่เป็นเจ้าของสวนสิ้นชีวิต และสวนนั้นกลายเป็นมรดกของลูกๆ บรรดาลูกๆ แทนที่จะปฏิบัติตามแนวทางของบิดาของพวกเขาที่เคยปฏิบัติไว้ กลับปฏิบัติตรงกันข้าม อันเป็นการปฏิบัติที่ถือว่าเป็นการยุแหย่และกระซิบกระซาบของชัยฏอน
มีอยู่วันหนึ่ง บรรดาลูกๆได้ตกลงกันว่าจะออกไปเก็บพืชผลในสวนอย่างลับๆ ในตอนเช้าตรู่ และสาบานซึ่งกันและกันว่า จะไม่ให้ผู้อนาถา หรือผู้ขัดสนได้รับส่วนหนึ่งส่วนใดจากพืชผลในสวนของพวกเขาในครั้งนี้ พวกเขาไม่รำลึกถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺ(ซบ.) ในปัจจัยยังชีพ(ริสกี) ที่พระองค์ทรงประทานให้แก่พวกเขา โดยการกล่าวว่า : เราจะปฏิบัติสิ่งที่พวกเราตกลงกันไว้หากแต่อัลลอฮฺ(ซบ.)ทรงประสงค์ พวกเขาไม่ได้กล่าวเช่นนั้น หากแต่สาบานว่าจะเก็บเกี่ยวผลของมันแต่เช้าตรู่ แสดงถึงจิตใจที่แข็งกระด้างเต็มไปด้วยความเห็นแก่ตัว
และในช่วงที่พวกเขานอนหลับสนิท อัลลอฮฺ(ซบ.) ทรงสั่งไพร่พลของพระองค์ และนี่ไม่ใช่อื่นใด นอกจากเป็นข้อตักเตือนแก่มนุษย์ ซึ่งไพร่พลของพระองค์ในครั้งนั้น ไม่มีผู้ใดรู้จำนวนหรือประเภทของไพร่พลของพระองค์ นอกจากพระองค์เอง สำหรับไพร่พลของพระองค์ของพระองค์ในที่นี้ก็คือไฟ เป็นไฟแห่งการลงโทษของพระองค์ และได้ลุกลามเผาผลาญสวนทั้งหมด ไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ไม่ว่าจะเป็นพืชผลที่แห้งหรือสดก็ตาม เพียงชั่วพริบตาเดียว สวนทั้งหมดก็กลายเป็นภาพวาดที่ดำทะมึน ไม่เหลือร่องรอยใดๆ แม้เพียงเป็นจุดเล็กๆ ให้ผู้ที่มองเห็นได้วาดภาพว่าเคยมีสวนที่อุดมสมบูรณ์ เขียวชอุ่ม และมีชีวิตชีวา ณ สถานที่แห่งนั้นมาก่อน
หลังแสงอรุณของวันใหม่มาถึง บรรดาลูกๆ ของคนซอและห์ที่มีหัวใจชั่วก็ลุกขึ้น และได้เรียกซึ่งกันและกันให้เตรียมพร้อมเพื่อไปเก็บผลไม้ในสวน พวกเขาคิดว่าบรรดาผู้ที่ยากจนขัดสนคงจะไม่รู้เรื่อง บางคนในหมู่พวกเขากล่าวกับอีกบางคนในสภาพที่มีความปิติยินดีด้วยเสียงกระซิบว่า : วันนี้จะไม่มีผู้ขัดสนใดๆ จะมาขอส่วนแบ่งใดๆ จากสิ่งที่เราจะเก็บเกี่ยว และสิ่งที่เราจะเก็บจากสวนในวันนี้ก็จะเป็นของเราทั้งหมด
ครั้นเมื่อพวกเขามาถึงสวน สิ่งที่พวกเขามองเห็นกลับเป็นร่องรอยของไฟไหม้สวน ทำให้พวกเขามีสภาพไม่ต่างกันกับผู้ขาดสัมผัสทั้งห้า กล่าวคือ มองไม่เห็น ไม่รู้อะไรเป็นอะไร และคิดว่าพวกเขาคงจะหลงทางเสียแล้ว และไฟคงจะไหม้โดนสวนของคนอื่นซึ่งไม่ใช่สวนของพวกเขา
แต่ทว่ายังมีบุคคลหนึ่งในหมู่พวกเขาซึ่งเป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะมีใจเป็นธรรม และมีความคิดที่รอบคอบทราบทันทีว่า นี่คือประกาศิตแห่งการลงโทษของอัลลฮฺ(ซบ.) และความกริ้วโกรธของพระองค์ที่มีต่อการกระทำของพวกเขา เขาผู้นี้คือจึงกล่าวกับพวกของเขาว่า : ฉันไม่เคยตักเตือนพวกเจ้าในการให้สิทธิ์แก่ผู้ที่ขัดสนและยากจนในสวนของพวกเจ้ากระนั้นหรือ? พวกเจ้าไม่รู้สำนึกเลยหรือว่า อัลลฮฺ(ซบ.) เป็นผู้ทรงให้ความโปรดปรานแก่พวกท่าน พระองค์ทรงสามารถที่จะเอาความโปรดปรานนี้กลับคืนจากพวกเจ้า หากพระองค์ทรงประสงค์ พวกเจาจงขอลุกโทษต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) ด้วยการสำนึกผิด และกลับเนื้อกลับตัวอย่างจริงจังเถิด พวกเขาจึงรู้สึกตัวสำนึกผิดในความผิดอันมหันต์ที่พวกเขาประกอบไว้ และยอมรับว่าพวกเขาเป็นผู้อธรรม บางคนในหมู่พวกเขาก็หันไปต่อว่าซึ่งกันและกัน พวกเขาวิงวอนต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) ให้พระองค์ทรงเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ดีกว่าสวนที่พินาศไปให้แก่พวกเขา และตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะปฏิบัติดีต่อผู้ขัดสนยากจน ดังที่บิดาที่เป็นคนซอและห์ของพวกเขาเคยปฏิบัติไว้
- ไม่ใช้จ่ายทรัพย์สินไปในหนทางของอัลลอฮฺ
การใช้จ่ายในวิถีทางของอัลลอฮฺ(ซบ.) คือ การใช้จ่ายในแนวทางของพระองค์ เพื่อการช่วยเหลือศาสนา คนจนและคนยากไร้ และการใช้จ่ายในวิถีทางของพระองค์จะทำให้รับริสกี อัลลอฮฺ(ซบ.) ทรงตรัสไว้ความว่า “และสิ่งใดที่พวกเจ้าใช้จ่าย (ในวิถีทางของพระองค์) พระองค์จะทดแทน และพระองค์คือผู้ที่ให้ปัจจัยยังชีพที่ยอดเยี่ยมที่สุด” (สะบะอฺ 39)
ดังเช่น ใช้จ่ายแก่ผู้ที่อุทิศเวลาเพื่อศึกษาหาความรู้ศาสนา รายงานจากท่าน อนัส บินมาลิก รอฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้กล่าวว่า: ได้มีพี่น้องสองคนในสมัยของท่านรอซูล ซึ่งคนหนึ่ง (ไม่ได้ทำงานแต่) จะไปหาท่านนบี (เพื่อศึกษาศาสนา) และอีกคนหนึ่งจะออกไปทำงาน ดังนั้นคนที่ออกไปทำงานจึงร้องเรียนต่อท่านบี เกี่ยวกับพี่น้องของเขา (ว่าเอาเปรียบเขา) ท่านนบีจึงได้กล่าวแก่เขาความว่า “บางที ท่านอาจได้รับการประทานริสกีโดยผ่าน (กิจการของ) เขาก็ได้” คือคนดูแลส่งเสริมคนเรียนศาสนาและงานด้านศาสนา (หะดีษซอเฮี๊ยะห์ รายงานโดย อัตติรมีซีย์)
- งกทรัพย์สมบัติ
ท่านนบี(ซ.ล.) ยังได้กล่าวไว้อีกความว่า “การบริจาคทานไม่ทำให้ทรัพย์สินนั้นบกพร่องลง” ดังที่อัลลอฮฺ(ซบ.) ตรัสความว่า “จงกล่าวเถิด แท้จริง พระเจ้าของฉันทรงแผ่ปัจจัยยังชีพแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์จากปวงบ่าวของพระองค์ และทรงให้แคบแก่เขา” (สะบะอฺ 39)
- ไม่ออกแสวงหาปัจจัยยังชีพแต่เช้าตรู่
ในทุกยามเช้าหลังที่เราละหมาดซุบฮฺ ให้มีการสรรเสริญสดุดีต่ออัลลอฮฺมากๆ เมื่อเราละหมาดซุบฮฺเสร็จแล้ว อย่าพึ่งนอน ถ้าจะนอนก็ให้นอนหลังดวงอาทิตย์ขึ้นแล้ว เพราะท่านนบี (ซ.ล.) ได้สั่งว่า “การนอนตอนเช้าๆ ริสกีนั้นถูกยับยั้ง” ริสกีอัลลอฮฺให้ แต่เมื่อเรานอนทับสิทธิ์อยู่ เราก็จะไม่ได้ความจำเริญตรงนี้
ท่านนบี (ซ.ล.) เคยไปเยี่ยมลูกสาวท่านหญิงฟาตีมะห์ตอนเช้าๆ นบีเห็นลูกสาวนอน นบีก็ปลุก พร้อมกล่าวว่า “ลุกๆ อย่านอนตอนละหมาดซุบฮฺ จนกว่าตะวันจะขึ้น เพราะอัลลอฮฺจะจัดสรรริสกีให้กับมนุษย์ตั้งแต่รุ่งอรุณจนกว่าดวงอาทิตย์จะขึ้น”
- ไม่ยำเกรงไม่เชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ ตะอาลา
อัลลอฮฺได้ตรัสไว้ความว่า “และผู้ใดยำเกรงอัลลอฮฺ พระองค์จะทรงหาทางออกให้แก่เขาและจะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่เขาโดยที่เขามิได้คาดคิด” (ซูเราะห์ อัตเฎาะลาก อายะห์ 2-3)
ดังนั้นคนที่เชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺเขาต้องมุ่งมั่นขยันขันแข็งทำงาน จะได้มากได้น้อยก็ต้อง “อัลฮัมดุลิ้ลลาห์” อดทนอย่างมีศรัทธา ในที่สุดอัลลอฮฺจะให้เราเอง อย่างเป็นขั้นตอนไม่ครั้งนี้ก็ครั้งหน้า อย่าท้อแท้สิ้นหวังในความเมตตาของอัลลอฮฺ
- เป็นคนมีหนี้แต่ไม่ชดใช้หนี้
คนที่มีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะชดใช้หนี้สิน อบูฮุร็อยเราะฮฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์สินของผู้อื่นไปโดยตั้งใจจะชดใช้คืน อัลลอฮฺจะทรงชดใช้ให้เขา (ด้วยการให้เขาได้มีโอกาสชดใช้) ส่วนคนที่เอาทรัพย์สินของผู้อื่นไป โดยไม่ตั้งใจที่จะชดใช้คืน อัลลอฮฺจะทำให้เขาพินาศ (ไม่มีโอกาสใช้หนี้ เป็นหนี้แล้วเป็นหนี้อีก ริสกีขาดหายไปเรื่อยๆ)” (อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 2387)
- คนโกงกินมรดก ทรัพย์สมบัติด้วยความไม่ชอบธรรม
อัลลอฮฺตะอาลาตรัสความว่า “และจงอย่าแย่งชิงทรัพย์สินกันและกันโดยวิธีการที่มิชอบธรรม และจงอย่าเสนอให้แก่ผู้พิพากษาเพื่อที่ว่าสูเจ้าจะได้กลืนกินสมบัติส่วนหนึ่งของคนอื่นโดยไม่เป็นธรรมทั้ง ๆ ที่สูเจ้ารู้ดีอยู่” (ซูเราะห์อัลบากอเราะห์188)
คนที่ไม่รู้จักพอไม่รู้จักการให้ โกงกินเงินคนอื่น สุดทรัพย์สมบัติก็จะเผาผลาญหมดไปโดยง่าย ไม่มีบารอกะห์ศิริมงคล เขาจะหลงดุนยาไปเรื่อยๆ ของนอกกายตายก็เอาไปไม่ได้ ซึ่งอัลลอฮฺตรัสไว้ว่า ทรัพย์สิน ลูกหลานเป็นเครื่องประดับดุนยาเท่านั้นเอง
- ไม่มอบหมายต่ออัลลอฮฺ
จาก อุมัร บิน อัลค็อตฎอบ รอฎิยัลลอฮฺ อันฮุ กล่าวว่า: ท่านรอซูล ได้กล่าวความว่า “ถ้าหากพวกเจ้าได้มอบหมาย (กิจการต่างๆของพวกเจ้า) แด่อัลลอฮฺอย่างแท้จริงแล้ว แน่นอนพระองค์จะทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า เสมือนกับที่พระองค์ทรงประทานปัจจัยยังชีพแก่นก โดยที่มันบินออกไปในยามเช้า ด้วยท้องที่ว่างเปล่าและบินกลับมาในตอนเย็นด้วยท้องที่อิ่มเอม” (รายงานโดย อัตติรมีซีย์ หมายเลข 2344)
- ตัดสัมพันธ์กับเครือญาติ ไม่ติดต่อญาติพี่น้อง
ริสกีจะไม่บังเกิดอย่างแท้จริงกับคนไม่ให้ความสำคัญกับเครือญาติพี่น้อง ไม่ไปเยี่ยมเยือน ไม่คบหา ไม่สนใจใยดี ยามเจ็บไข้ ยามยากจนขัดสน แต่สำหรับการติดต่อกับเครือญาติจะทำให้ปัจจัยยังชีพนั้นกว้างขวาง จากหะดีษของอบีฮุร็อยเราะห์ รอฏิยัลลอฮุอันฮุ จากท่านรอซูล กล่าวความว่า “ผู้ใดชอบที่จะให้ปัจจัยยังชีพของเขานั้นกว้างขวาง และให้อายุของเขานั้นยืนยาว ดังนั้นเขาจงติดต่อกับเครือญาติ” ( หะดิษซอเฮี๊ยะห์ทั้งสอง)
- ไม่ปฏิบัติละหมาด หรือละหมาดไม่ตรงเวลา
ท่านนบี (ซ.ล.) กล่าวความว่า “ผู้ใดรักษาการละหมาดฟัรดูของพวกเขา จะไม่ถูกบันทึกว่าเป็นผู้ถูกหลงลืม” (บันทึกโดยฮากิม)
คนไม่ทำละหมาดชีวิตจะมีแต่คับแคบ ม่นหมอง จากความเมตตาของอัลลอฮฺ ที่จะเพิ่มเติมให้ดียิ่งไปอีกคือต้องให้ละหมาดในช่วงเวลาของการละหมาดนั้นๆ ด้วย ท่านนบี (ซ.ล.) สอนว่าให้ละหมาดในละหมาดของมัน คนละหมาดไม่รีบละหมาดไม่ตรงเวลาก็ทำให้ห่างไกลจากความดีงาม ซึ่งมันจะยกชีวิตมีความบารอกัตศิริมงคลมากขึ้น
- ไม่ทำดีไม่ทำอิบาดะห์ไม่เชื่อฟังคำสั่งใช้คำสั่งห้าม
คนไม่ทำละหมาด คนไม่ออกซะกาต คนกินดอกเบี้ย ไม่ทำดีต่อพ่อแม่ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่ในชีวิตยังมีปกติสุข มีปัจจัยยังชีพมีเงินมีทองใช้ ระวังเป็นการให้ริสกี เเบบอิสติดรอจ คือแบบโดนทดสอบเป็นขั้นๆ จนเฮือกสุดท้ายของลมหายใจมาถึง สุดท้ายจะขาดทุน เพราะหลงในวัตถุดุนยา จนไม่มีสนใจต่อคำสั่งใช้คำสั่งห้ามของศาสนา ดังหะดีษ ความว่า “เมื่อใดที่เจ้าเห็นอัลลอฮฺให้สิ่งที่บ่าวของพระองค์ชอบ บนความชั่วของเขา เเท้จริงเเล้ว มันคือ การให้เเบบ อิสติดรอจ” (บันทึกโดยอิม่ามอะอฺหมัด)
อย่างไรก็ตาม ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นล้วนแต่เราจะปฏิบัติให้ชีวิตผู้ศรัทธาดีขึ้นหรือเราจะทำให้ชีวิตบกพร่อง ก็ขึ้นอยู่ที่ตัวของท่านเอง ทุกคนล้วนอยากได้รับความผาสุข มีริสกีชีวิตที่ดี ก็ควรหมั่นทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่าเราทำดีแค่ไหนที่จะพอให้พระผู้เป็นเจ้ารักและมอบความสุขให้แก่เรา วัลลอฮฺอะห์ลัม.
ขอขอบคุณ : อาจารย์อัดนาน (อัศวิน) มินกาเซ็ม จากโรงเรียนอิสลามสันติชน