พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) นั้นพระองค์ทรงมีพระประสงค์ที่จะให้สิ่งที่พระองค์ทรงสร้างขึ้นมาบางอย่างนั้นประเสริฐกว่าอีกบางอย่าง เช่น พระองค์ทรงประสงค์ให้ศาสดาบางท่านประเสริฐกว่าศาสดาอีกบางท่าน พระองค์ประสงค์ให้เดือนบางเดือนประเสริฐกว่าอีกบางเดือน เช่น เดือนรอมฏอนประเสริฐกว่าเดือนใดทั้งหมดในรอบปี เฉกเช่นเดียวกันกับการที่พระองค์ทรงประสงค์ให้วันศุกร์นั้นประเสริฐกว่าวันใดๆทั้งหมดในรอบสัปดาห์
คุณสมบัติพิเศษที่ทำให้วันศุกร์ประเสริฐกว่าวันอื่นๆในรอบสัปดาห์ในมุมมองของอิสลามนั้นมีมากมายหลายประการ เช่น
1. วันศุกร์นั้นเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญๆขึ้นมากมายหลายเหตุการณ์ดังที่ท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ในอัลหะดีษบทหนึ่งของท่านความว่า
قال النبيّ صلّى الله عليه وسلّم: “خيرُ يومٍ طلعت عليه الشَّمسُ يومُ الجمعةِ، فيه خُلِق آدمُ، وفيه أُدخل الجنَّةَ، وفيه أُخرج منها، ولا تقومُ السَّاعةُ إلَّا في يومِ الجمعة ” رواه مسلم
ความว่า “วันศุกร์นั้นเป็นวันที่ดีที่สุด เป็นวันที่ท่านนบีอาดัม (อ.ล.) ถูกสร้างขึ้นมา และเป็นวันที่ท่านนบีอาดัม (อ.ล.) ถูกนำเข้าสวนสวรรค์ พร้อมกันนั้นวันศุกร์ก็ยังเป็นวันที่ท่านนบีอาดัม (อ.ล.) ถูกขับไล่ออกจากสวนสวรรค์เช่นเดียวกัน (เมื่อครั้งที่ฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์อัลลอฮ์ ซบ. รับประทานผลไม้ต้องห้าม) อีกทั้งวันกิยามะฮ์ (วันสิ้นโลก) ก็จะเกิดขึ้นในวันศุกร์เช่นเดียวกัน” รายงานโดยอีหม่ามมุสลิม
2. พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงกำหนดให้วันศุกร์มีการละหมาดวันศุกร์ซึ่งแตกต่างไปจากวันอื่นๆในรอบสัปดาห์ดังที่พระองค์ทรงตรัสถึงเรื่องนี้เอาไว้ในอายะฮ์ที่ 9 ของซูเราะฮ์อัลญุมุอะฮ์ความว่า
قال الله تعالى : ” يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا إِذَا نُودِي لِلصَّلاةِ مِنْ يَوْمِ الْجُمُعَةِ فَاسْعَوْا إِلَى ذِكْرِ اللَّهِ وَذَرُوا الْبَيْعَ ذَلِكُمْ خَيْرٌ لَكُمْ إِنْ كُنتُمْ تَعْلَمُونَ ” سورة الجمعة /9

ความว่า “โอ้บรรดาผู้มีศรัทธาทั้งหลาย เมื่อมีเสียงเรียกร้อง (อะซาน) สู่การละหมาดวันศุกร์ท่านทั้งหลายจงรีบเร่งไปสู่การรำลึกถึงพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) เถิด และท่านทั้งหลายจงละทิ้งการค้าขายเสีย นั่นเป็นการดีสำหรับพวกเจ้าหากพวกเจ้ารู้”
3. ในวันศุกร์นั้นมีช่วงเวลาหนึ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงตอบรับดุอาของบ่าวผู้ศรัทธาที่ทำการขอดุอาตรงกับช่วงเวลาดังกล่าวด้วยความตั้งใจ บริสุทธิ์ใจมุ่งตรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) โดยมีรายงานจากท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ (ร.ฏ.) เล่าว่า
عن أبي هريرة رضي الله عنه: ” أنَّ رسولَ اللهِ -صلَّى اللهُ عليه وسلَّم- ذكَر يومَ الجمُعةِ، فقال: فيه ساعةٌ، لا يُوافِقُها عبدٌ مسلمٌ، وهو قائمٌ يُصلِّي، يَسأَلُ اللهَ تعالى شيئاً، إلا أعطاه إياه ” رواه البخاري
ความว่า “แท้จริงท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ได้กล่าวถึงวันศุกร์ว่า ในวันศุกร์นั้นมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่ไม่มีมุสลิมผู้ศรัทธาคนใดทำการยืนละหมาด (หรือยุ่งอยู่กับการละหมาดในช่วงเวลาดังกล่าว) และเขาก็วิงวอนขอดุอาต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ให้ประทานสิ่งหนึ่งให้กับเขาด้วยความบริสุทธิ์ใจและตั้งใจ เว้นแต่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.)ก็จะทรงตอบรับคำขอของเขา” รายงานโดยอีหม่ามบุคอรีย์
ส่วนประเด็นที่ว่าช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในช่วงใดของวันศุกร์นั้น จากการศึกษาพบว่าบรรดานักวิชาการอิสลามมีความเห็นแตกต่างกันออกไปในเรื่องนี้ มีรายงานจากท่านอะบู มูซา อัล-อัชอะรีย์เล่าว่า ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ได้กล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้ว่า
قال رسول الله صلى الله عليه وسلم : ” هِيَ مَا بَيْنَ أَنْ يَجْلِسَ الإِمَامُ إِلَى أَنْ تُقْضَى الصَّلاةُ ” رواه مسلم
ความว่า “ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นอยู่ในช่วงระหว่างที่อิหม่ามกำลังนั่ง(บนมิมบัร)จนกระทั่งละหมาดเสร็จ” รายงานโดยอีหม่ามมุสลิม
แต่ก็มีนักวิชาการบางท่านให้ความเห็นว่าช่วงเวลาดังกล่าวนั้นอยู่ในช่วงท้ายของวันศุกร์หลังการละหมาดอัสรี่ เช่น ท่านอับดุลลอฮ์ บิน สลาม (ร.ฏ.) ซึ่งถือได้ว่าเป็นทัศนะที่ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายเพราะมีตัวบทอัลหะดีษมากมายหลายบทสนับสนุน ส่วนท่านอีหม่ามสุยูฏีย์มีความเห็นว่า ช่วงเวลาดังกล่าวนั้นคือช่วงระหว่างอิกอมะฮ์ของละหมาดวันศุกร์
cuma-1549014568
4. การทำความดี (อิบาดะฮ์) ในวันศุกร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรักษาการละหมาดวันศุกร์อย่างเคร่งครัดเป็นสาเหตุให้ได้รับการอภัยโทษ อีกทั้งยังได้รับความดีที่ทวีคูณอีกด้วย ดังมีรายงานจากท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ที่ได้กล่าวถึงประเด็นนี้เอาไว้ในอัลหะดีษบทหนึ่งของท่านความว่า
“การเดินเท้าเพื่อไปละหมาดวันศุกร์ การอาบน้ำละหมาดอย่างสมบูรณ์แบบ บุคคลใดสามารถกระทำดังกล่าวได้ เขาจะมีชีวิตอยู่ด้วยกับความดีงาม และยามที่เขาต้องจบชีวิตลง เขาก็จะจบชีวิตลงด้วยความดีงาม อีกทั้งความผิดของเขาก็จะถูกลบล้างและได้รับการอภัยโทษเสมือนกับวันที่เขาพึ่งจะคลอดออกมาจากครรภ์ของมารดา” รายงานโดยอีหม่ามอะห์หมัด
5. บุคคลใดเสียชีวิตในวันศุกร์ หรือคืนวันศุกร์ พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) จะปกป้องคุ้มครองเขาให้พ้นจากฟิตนะฮ์ในหลุมฝังศพ ดังมีรายงานจากท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) กล่าวว่า
روي عن رسول الله صلّى الله عليه وسلّم: ” ما مِن مسلمٍ يموتُ يومَ الجمعةِ أو ليلةَ الجمعةِ إلَّا وقاهُ اللَّهُ فِتنةَ القبرِ ” رواه الألباني
ความว่า “ไม่มีมุสลิมคนใดที่เขาเสียชีวิตในวันศุกร์ หรือคืนวันศุกร์ เว้นแต่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) จะทรงคุ้มครองปกป้องเขาให้พ้นจากฟิตนะฮ์ที่จะเกิดขึ้นในหลุมฝังศพ” รายงานโดยอีหม่ามอัลบานีย์

6. การละหมาดซุบฮิในเช้าวันศุกร์ร่วมกับผู้อื่นแบบญ่ามาอะฮ์ (มีอีหม่ามมีมะมูม)นั้นประเสริฐกว่าการละหมาดซุบฮิในลักษณะเดียวกันของวันอื่นๆในรอบสัปดาห์ เพราะมีรายงานว่าท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) ได้กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวนี้เอาไว้ว่า
“การละหมาดที่ดีที่สุด ณ ที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ก็คือการละหมาดซุบฮิในเช้าของวันศุกร์แบบญ่ามาอะฮ์” รายงานโดยอีหม่ามดารุกุฏนีย์
7. ในการละหมาดซุบฮิของเช้าวันศุกร์มีสุนัตให้อีหม่ามอ่านสองซูเราะฮ์ต่อไปนี้ ซูเราะฮ์ซัจญฺดะฮ์และซูเราะฮ์อัลอินซาน ดังมีรายงานจากท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) กล่าวว่า
“ท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) มักจะอ่านซูเราะฮ์ ( الم تَنْزِيلُ) และซูเราะฮ์ (هَلْ أَتَى عَلَى الْإِنْسَانِ) ในการละหมาดซุบฮิของเช้าวันศุกร์” รายงานโดยอีหม่ามอิบนุหิบบาน
8. วันศุกร์นั้นสมควรที่จะทำการซ่อลาวาต (สรรเสริญ) ต่อท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ให้มากกว่าวันอื่นๆในรอบสัปดาห์ เพราะท่านร่อซู้ล (ซ.ล.)ได้กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า
“วันที่ประเสริฐที่สุดของพวกท่านทั้งหลาย คือวันศุกร์ ดังนั้นท่านทั้งหลายจงซ่อลาวาต (สรรเสริญ) ต่อฉันให้มากๆเถิด เพราะคำซ่อลาวาตของท่านทั้งหลายจะถูกนำมาเสนอต่อฉัน” รายงานโดยอีหม่ามอะบูดาวูด
9. มีการสนับสนุนให้มวลมุสลิมผู้ศรัทธาทั้งหลายได้อ่านซูเราะอัลกะห์ฟิในวันศุกร์มากกว่าวันอื่นๆในรอบสัปดาห์ทั้งหมด ดังตัวบทอัลหะดีษที่รายงานจากท่านอะบีสะอีด อัลคุดรีย์ (ร.ฏ.) กล่าวว่า
“บุคคลใดอ่านซูเราะฮ์อัลกะห์ฟิในวันศุกร์ พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) จะให้มีรัศมีเกิดขึ้นกับเขาในช่วงระหว่างสองวันศุกร์” รายงานโดยอีหม่ามอัลบานีย์

cemaat1new

สิ่งที่ควรปฏิบัติในวันศุกร์นอกจากบางประการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นมีดังต่อไปนี้
1. มีสุนัตให้อาบน้ำทำความสะอาดร่างกายเนื่องในวันศุกร์สำหรับผู้ที่ประสงค์จะไปละหมาดวันศุกร์ ดังตัวบทอัลหะดีษที่รายงานจากท่านอิบนุอุมัร (ร.ฏ.) เล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) กล่าวว่า
“เมื่อคนหนึ่งคนใดจากพวกท่านทั้งหลายประสงค์ที่จะไปละหมาดวันศุกร์ เขาจงอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดเถิด” รายงานโดยอีหม่ามบุคอรีย์
2. มีสุนัตให้ผู้ที่ประสงค์จะไปละหมาดวันศุกร์สวมเสื้อผ้าที่ดีที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสื้อผ้าที่มีสีขาวเพราะสีขาวเป็นสีที่ดีที่สุดในมุมมองของอิสลาม อีกทั้งยังมีสุนัตให้สุภาพบุรุษใช้ของหอมที่ศาสนาอนุญาตในการไปละหมาดวันศุกร์อีกด้วย
3. มีสุนัตให้ผู้ที่ประสงค์จะไปละหมาดวันศุกร์ที่ไม่ใช่ผู้ดำรงค์ตำแหน่งอีหม่ามนั้นรีบไปละหมาดวันศุกร์แต่เช้า ส่วนผู้ที่ดำรงค์ตำแหน่งเป็นอีหม่ามมีสุนัตให้ล่าช้าในการไปละหมาดวันศุกร์ บรรดานักวิชาการในสังกัดมัสฮับอีหม่ามชาฟีอีย์มีความเห็นว่า ถ้าหากว่าบุคคลใดก็ตามที่เข้ามัสยิดมาในช่วงเวลาที่อีหม่าม หรือค่อตีบกำลังอ่านคุตบะฮ์อยู่ อนุญาตให้เขาทำการละหมาดเคารพมัสยิด 2 ร่อกะอัตแบบเร็วๆได้ หลังจากละหมาดเสร็จเรียบร้อยแล้วให้เขานั่งฟังคุตบะฮ์อย่างตั้งใจ นอกจากนั้นท่านอีหม่ามชาฟีอีย์มีความเห็นว่าที่ดีที่สุดควรไปตั้งแต่หลังละหมาดซุบฮิเสร็จเรียบร้อยก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ซึ่งขัดกับความเห็นของท่านอีหม่ามมาลิกที่ว่า ช่วงเวลาที่มีสุนัตให้รีบไปละหมาดวันศุกร์นั้นคือ ช่วงดวงอาทิตย์คล้อยต่างหากไม่ใช่ช่วงเช้าตรู่ของวันศุกร์
4. ผู้ละหมาดจะต้องตั้งใจฟังคุตบะฮ์วันศุกร์ ไม่อนุญาตให้พูดคุยกันขณะฟังคุตบะฮ์ ยกเว้นมีเหตุจำเป็น เช่น การบอกทางเดินให้กับคนตาบอด หรือพบว่ามีสัตว์ร้ายกำลังทำร้ายผู้ที่มาร่วมละหมาด หรือรับสลามจากผู้ที่ให้สลาม หรือกล่าวซ่อลาวาตต่อท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ขณะที่ค่อตีบกล่าวถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซ.ล.) ดังมีรายงานจากท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ (ร.ฏ.) กล่าวว่า
عن أبي هُرَيرَة رَضِيَ اللهُ عنه، أنَّ رسولَ اللهِ صلَّى اللهُ عليه وسلَّم قال: ” إذا قُلتَ لصاحبِكَ يومَ الجُمُعةِ: أنصِتْ والإمامُ يَخطُبُ، فقد لغوتَ ” رواه البخاري ومسلم
ความว่า “ครั้งหนึ่งท่านร่อซู้ล (ซ.ล.) กล่าวว่า ในวันศุกร์นั้นเมื่อท่านกล่าวกับเพื่อนของท่านว่า จงเงียบอย่าคุยกัน ซึ่งในตอนนั้นอีหม่ามกำลังอ่านคุตบะฮ์วันศุกร์อยู่ ท่านจะไม่ได้รับผลบุญจากการมาละหมาดวันศุกร์เลย”
5. ในวันศุกร์นั้นมีสุนัตให้ดูแลความสะอาดร่างกายให้ทั่วถึง เช่น ตัดเล็บที่ยาว เล็มหนวดเคราที่หนาให้อยู่ในลักษณะที่พอดี หรือโกนขนใต้ร่มผ้า หรือถอนขนรักแร้ที่ยาว เป็นต้น
สุดท้ายนี้ผู้เขียนขอเรียกร้องท่านผู้อ่านทุกท่านให้ฉวยโอกาสประกอบคุณงามความดีให้มากเมื่อวันศุกร์นั้นมาเยือนพวกเราในทุกๆสัปดาห์ อย่าปล่อยให้ช่วงเวลาที่มีคุณค่าผ่านชีวิตของพวกเราไปสัปดาห์แล้วสัปดาห์เล่าโดยที่พวกเราไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลยในการมาเยือนของวันศุกร์

แบ่งปัน