คำอุทานเป็นประโยคที่เราจะใช้เวลาตกใจ หรือแสดงอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่มีความหมายอะไร เช่น อุ๋ย โอ้ย โอ้โห เป็นต้น แต่ก็จะมีคำพูดหรือประโยคที่อุทานฟังแล้วระคายหู ที่จะออกแนวหยาบคาย แนวลามก หรือคำพูดที่ออกมาจากอารมณ์โดยไม่ได้กลั่นกรอง เช่น อยากตาย โอ้ยเมื่อไรจะหายสักที เหนื่อยวะ อิ่มโว้ย เป็นต้น กัมปงไทยฉบับนี้มาค้นหาข้อมูลว่าการพูดในอิสลาม ขอบเขต มารยาท ผลกระทบของการพูด ยกตัวอย่างในสมัยนบีว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นในสมัยนั้น นำมาเพื่อเตือนใจพี่น้องมุสลิม จากอาจารย์ ชารีฟ ศรีเจริญ
ต่อกรณีในเรื่องคำอุทานของพวกเรา โดยเฉพาะพี่น้องมุสลิมบางครั้งอาจจะเกินเลย อาจจะฟังดูแล้วไม่ค่อยจะถูกต้องเท่าไหร่ ฟังดูแล้วอาจจะกระทบความรู้สึกในบางถ้อยคำ เราต้องเข้าใจคำว่าอุทานก่อน คำว่าอุทานบางครั้งไม่ได้เป็นประโยค เพราะว่าประโยคฟังแล้วต้องได้ใจความ เป็นการเปล่งเสียงออกไปเพื่อแสดงความรู้สึกของอาการช่วงเวลานั้น จะเป็นอาการโกรธ อาการดีใจ อาการตกใจ บางครั้งคำออกไปแล้วหาความไม่ได้ หรือบางครั้งเป็นถ้อยคำไม่มีความหมายในภาษาไทย หรือบางครั้งมีความหมายแต่เป็นความหมายที่อาจจะไม่ค่อยจะถูกต้อง ความหมายที่หยาบคาย ความหมายที่ลามก อาจจะรวมถึงคนที่เราเรียกว่า “บ้าจี้” พอถูกเอวหน่อยก็จะวี๊ดว๊ายออกไป ว่าโน่น ว่านี่ ทั้งๆที่สิ่งเหล่านี้เป็นคำที่แสดงอาการออกจากฐานแห่งอารมณ์ ถือว่าเป็นคำอุทานชนิดหนึ่ง ถ้าหากเราจะตรวจสอบโดยหลักการศาสนาอิสลามที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของคำพูดแล้ว ถือว่ามันมีความสำคัญมาก เพราะคำพูดของเราที่ออกไปนั้น อัลลอฮฺ(ซบ.)ตรัสเอาไว้ว่า (มายันฟีซุ มิงเกาลิน อิลลาลาดัยฮิ รอกีบุนอาตีดุน) ซึ่งมีความหมายว่า “ไม่ว่าคำพูดใดที่เปล่งออกไปนั้น (หรือไม่ว่าข้อความใดๆที่เขียนออกไป หรือที่โพสต์ออกไป กล่าวคือจะเป็นการพูด จะเป็นการเขียน จะเป็นการพิมพ์ จะเป็นการโพสต์ หรือแม้แต่การแสดงอาการใดๆที่แสดงออกไป อากัปกริยาของเราทั้งหมด) เว้นแม้แต่จะมีผู้บันทึก โดยเจ้าหน้าที่ของอัลลอฮฺ(ซบ.) จะบันทึกถ้อยคำนั้น”ของเรา ไม่ว่าจะดีหรือชั่วก็ตาม ไม่ว่าจะแสดงอากัปกริยาในทางร้าย ในทางดี ในทางมีคุณธรรม ในทางไม่มีคุณธรรม ล้วนแล้วจะถูกบันทึกทั้งสิ้น ซึ่งถือว่าเป็นขบวนการในการตรวจสอบของอัลลอฮฺ(ซบ.) ประเภทหนึ่ง ฉะนั้น การที่เราจะพูด การที่เราจะเจรจา การที่เราจะโพสต์ การที่เราจะเขียนใดๆลงไปก็ตาม จะต้องผ่านความถูกต้อง ผ่านสติปัญญา ผ่านการใคร่ครวญเสียก่อน มิฉะนั้นจะส่งผลร้ายต่อตัวเองได้ คำพูดจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
นอกเหนือจากที่เราต้องรับผิดชอบต่อคำพูดของเราแล้ว มันอาจจะส่งผลใดๆที่ใหญ่หลวงมากขึ้นไปก็ได้ จึงมีคนให้ข้อคิดว่า “ลิ้นมันเป็นวัตถุหรือชิ้นส่วนเล็กๆ แต่ว่าผลของมันใหญ่ยิ่งเหลือเกิน” บางครั้งคำพูดของคนพียงคำเดียวอาจจะทำลายสังคมได้ ถ้าคนๆนั้นเป็นคนที่มีบทบาทต่อสังคม ฉะนั้นวาทกรรมต่างๆที่แสดงออกไป มันมีผลอย่างมหาศาล แม้มันออกไปจากลิ้นเล็กๆก็ตาม ศาสนาอิสลามจึงให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เป็นอย่างมาก การที่เราจะพูดใดๆออกไปจะต้องกลั่นกรอง
เรื่องของคำอุทานต่างๆที่ออกจากปากของเรา มันก็จะต้องพิจารณาว่ามันจะดี ไม่ดี บาปหรือไม่บาปในเชิงศาสนา ก็ต้องดูอย่างน้อยสองสามอย่าง อย่างแรกที่ว่าถ้อยคำที่ออกไปแล้วนั้นเป็นข้อความอย่างไร ประการที่สองมันเป็นคำที่มีความหมายในเชิงใด หรือมีพฤติกรรมการแสดงที่ออกไปในเชิงใด ถ้ามีความหมายในเชิงลบ มีความหมายไปในเชิงลามก และมีความหมายไปในเชิงหยาบคาย หรือแม้แต่ว่าฟังดูแล้วมันผิดศาสนา อย่างเช่น “เจ็บมาตั้งนานแล้ว ตายซะก็ดี” “อยากตายเหลือเกิน” “ตายดีกว่า” อะไรทำนองนี้ นี่ก็เป็นคำพูดที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็ต้องไปดูข้อที่สาม ก็คือต้องดูว่าความตั้งใจของการพูดมีแค่ไหน เพียงไร เพราะอย่างคำอุทานโดยปกติแล้วออกมาโดยอัตโนมัตคือโดยไม่ตั้งใจ มันตกใจก็อุทานออกมา บางครั้งคำพูดที่ออกไปมันอาจจะผิด มันอาจจะดูแล้วมันบาป โดยพูดออกไปโดยมีอาการตกใจนั้นแปลว่าเขาไม่ได้ตั้งใจ เมื่อไม่ได้ตั้งใจ ในหลักศาสนาก็ถือว่า การลืม การผิดพลาด ศาสนาก็อภัยให้ ก็แปลว่าไม่บาป
ท่านนบีเคยสอนเอาไว้ความว่า “จะได้รับการอภัยในมวลประชากรของฉัน นั้นคือ ความผิดพลาด (แปลว่าไม่ได้ตั้งใจ) สองการหลง การลืม หรือบางบทจากหะดิษก็คือ สิ่งที่ทำไปโดยถูกขู่บังคับ (หมายความว่ามีคนมาบังคับให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ ทั้งๆที่ตัวเองไม่ได้ตั้งใจ)” นี่ก็คือความผิดพลาด ฉะนั้นคำอุทานที่คนทั้งหลายที่เปล่งเสียงออกไป ผมเข้าใจว่าส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจ เมื่อไม่ได้ตั้งใจ แม้ว่าจะเป็นคำผิด ก็ไม่ถือว่าเป็นบาปแต่ประการใด เพราะไม่ได้ตั้งใจ แต่ว่ามันมีผลในความไม่ได้ตั้งใจ ถือว่าแม้จะไม่บาป ไม่มีโทษ แต่มันดูน่าเกียจ มันเป็นคำหยาบคาย มันดูไม่ดีในความเป็นมุสลิมของเรา ถ้ากรณีอย่างนี้ อย่างน้อยเราก็ต้องปรับเปลี่ยนในการที่จะทำให้มันเกิดความรู้สึกไม่ดีต่อคนที่รับฟัง ถ้าเราเป็นมุสลิม เราต้องใช้สติแม้ว่าจะตกใจอะไรก็ตาม
ถ้าเราได้มีการฝึกมาตั้งแต่ต้น อย่างเช่น พอตกใจแล้วอุทานว่า อัลลอฮฺ อะไรทำนองนี้ มันก็นึกถึงอัลลอฮฺ(ซบ.) ในภาวะที่เกิดวิกฤตเราก็นึกถึงอัลลอฮฺ(ซบ.) ยังมีหลายคำที่มุสลิมควรฝึกให้เกิดความเคยชินจนไปรวมอยู่ในหมวดหมู่แห่งสันชาติญาน เช่นเมื่อเราได้รับข่าวการสูญเสียก็ให้กล่าวว่า “อินนาลิลลาฮิ วะอินนาอิลัยฮิรอญิอูน”แปลว่า แท้จริงเราเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ และเราต้องกลับสู่พระองค์แน่นอน เมื่อพบกันให้กล่าวสลามว่า อัสสลามุอะลัยกุม แปลว่า ความสันติจงมีแด่ท่าน และให้กล่าวตอบรับสลามว่า “วะอะลัยกุมุสสลาม” แปลว่า ขอความสันติจงมีแด่ท่านเช่นกัน หมายความว่าให้เริ่มทักทายด้วยการให้สลามคือส่งความสันติต่อกัน นอกเหนือจากการให้สลาม การรับสลาม เมื่อเจอกัน เมื่อพบกัน เมื่อจากกัน แม้แต่การแสดงความขอบคุณแบบอิสลามก็ควรให้ติดปากไว้กล่าวคือเมื่อมีคนที่ให้สิ่งของเราหรือทำอะไรให้เรา เราก็ควรขอบคุณด้วยการกล่าวว่า “ญาซากุมุลลอฮฺ” ซึ่งแปลว่า ขออัลลอฮฺทรงตอบแทนท่าน ก็คือในความหมายขอบคุณนั่นเอง หรือจะกล่าวแก่ผู้ที่บริจาคหรือให้ทรัพย์แก่เรา เราก็ขอบคุณด้วยการกล่าวว่า “บารอกัลลอฮฺ ฟีมาลิกา วะอะฮ์ลิกา” หมายความว่า ขออัลลอฮฺทรงเพิ่มพูนแก่ท่านซึ่งทรัพย์ของท่าน และครอบครัวของท่าน มันก็เหมือนกับว่า ญาซากุมุลลอฮฺ บารอกัลลอฮฺ คือ ขอให้อัลลอฮฺทรงเพิ่มพูนและตอบแทนคุณความดีให้กับเขา ลักษณะอย่างนี้ เป็นลักษณะที่มุสลิมต้องได้รับการฝึกฝน อย่างเช่น เวลาเราเรอให้กล่าว “อัลฮัมดุลิลลาห์” คือเราอิ่ม การที่เราเรอแปลว่าเรามีความสุข เวลาจามมันไม่มีความสุข เขาจึงให้ใช้คำว่า อัลฮัมดุลิลลาห์ อะไรที่เป็นสิ่งดีงาม ให้เราใช้คำว่าอัลฮัมดุลิลลาห์แปลว่า ขอสรรเสริญอัลลอฮฺ แต่ถ้าเราเห็นสิ่งที่ไม่ดีงาม เราก็ขอความคุ้มครอง อาอูซูบิ้ลลาห์ แปลว่า ขออัลลอฮฺทรงคุ้มครอง ถ้าเราเห็นเพื่อนได้รับภัยพิบัติหรือเห็นสิ่งที่เราไม่ต้องการมัน แปลว่าได้รับข่าวคราวที่ไม่ดี เราก็กล่าว “ก๊อดดะรอลลอฮ์ วะมาซาอะ ฟะอัล”แปลว่า อัลลอฮฺทรงกำหนดไว้แล้ว และสิ่งใดที่พระองค์ทรงประสงค์ พระองค์ก็ทรงให้เกิด อย่างนี้เป็นต้น หรือว่าเราเห็นอะไรที่มันแปลกประหลาด อะไรที่เราเห็นรู้สึกแปลกประหลาด ให้กล่าว “ซุบฮานัลลอฮ์” แปลว่า มหาบริสุทธิ์แด่อัลลอฮฺหรือถ้าเรามีความปลื้มใจ ก็ให้กล่าวว่า มาซาอัลลอฮฺ นี่เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ อะไรทำนองนี้ คือทั้งหมดนี้เป็นการลิขิตของอัลลอฮฺ(ซบ.) เมื่อพระองค์ทรงปรารถนา พระองค์ก็ให้เกิดขึ้น นั้นคือความหมายของการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งก็มีหลายคำ เวลาเราพบเด็กน่ารักทำนองนี้ เห็นไหมว่าคนไทยเราไม่ให้ใช้คำว่าน่ารักด้วยซ้ำไป เรามักใช้คำว่าน่าเกียจ อะไรทำนองนี้ เราเป็นมุสลิมก็ใช้คำว่า มาซาอัลลอฮฺ นั้นคือสิ่งที่อัลลอฮฺทรงปรารถนาหรือ “อัลลอฮุมมะบาริกฟีฮิ” ขออัลลอฮฺทรงโปรดประทานความเป็นสิริมงคลแก่เด็กคนนี้ด้วยเถิด และให้กล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัร” แปลว่าอัลลอฮฺทรงเกรียงไกร เมื่อเราตกใจหรือพบเห็น ได้ยินเรื่องดีงามแบบปัจจุบันทันด่วน เป็นต้น เรื่องของสิ่งเหล่านี้ มันจะออกมาโดย ธรรมชาติ โดยสัญชาตญาณของเรา เมื่อเราได้ฝึกฝนตั้งแต่เล็ก ฉะนั้นลูกของเรา เวลาตกใจอย่าให้ไปวีดว๊าด บางทีอะไรหล่นก็ไม่รู้ ก็ขอให้ฝึกตั้งแต่เล็ก ให้ฝึกตั้งแต่เยาว์ คนที่จะฝึกได้ดีที่สุดไม่ใช่ครู แต่คือ พ่อแม่ เหมือนกับการเรียกชื่อ พวกเราก็ตั้งชื่อกันไปสวยงามเหลือเกิน อุตส่าห์ให้ โต๊ะครูนั้นตั้งชื่อมา อิหม่ามตั้งชื่อมา พอตั้งชื่อมาแล้ว อับดุลเราะมาน มูฮัมหมัดฟาดิล ก็ตั้งชื่อซะสวย แต่เวลาพ่อแม่เรียก มูฮัมหมัดฟาดิล ก็เรียกว่า ดิล อ้ายดิล ทำนองนี้ เหลือ ดิล ตัวเดียว ดิล อับดุลเราะมาน เรียกว่า มาน อะไรทำนองนี้ คือพ่อแม่ สำคัญที่สุดที่เรียก เดี๋ยวนี้เขาจึงไม่นิยมตั้งชื่อที่มีพยางค์เยอะๆ ถ้าจะมีพยางค์เยอะๆก็ต่อเมื่อเอาเป็นชื่อในทะเบียนเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม พ่อแม่สำคัญที่สุด ที่จะต้องฝึก โดยสรุปตรงนี้ ผมมองว่าเรื่องของการอุทาน ไม่ว่าจะเป็นอีย จะเป็นอ้าย จะเป็นตะเถนตกน้ำอะไรต่ออะไรทั้งหมด มันเป็นคำที่ออกไปมันแสดงถึงความตกใจ แต่บางครั้งก็ คำว่า อิ อ้าย บางครั้งก็ไม่มีความหมาย แล้วก็สำคัญคือไม่ได้ตั้งใจ ต่อไปนี้ถ้าตกใจอุทาน ก็ขอให้อุทานว่า “อัลลอฮฺ” หรือ “อัลลอฮุอักบัร” แต่หากว่าเรามองในหลักการศาสนา อะไรก็ตามที่มันไม่ตั้งใจ ถือว่าไม่เป็นบาป แต่ถ้าหากว่าแม้กระนั้นก็ตาม ถึงจะไม่ถึงขั้นจะต้องบาปใหญ่อะไรนักหนาในคำพูดต่างๆที่เราไม่ได้ตั้งใจข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า มันน่าเกียจ เป็นสิ่งที่ไม่มีมารยาท ขาดมารยาท แม้ว่าจะไม่เป็นบาปก็ตาม แต่มันก็น่าเกียจ อย่างน้อยมันก็มักโรฮ์ มักโรฮ์ ก็คือสิ่งที่น่ารังเกียจ ซึ่งก็ควรที่จะปรับเปลี่ยน แต่บางครั้งคำพูดของคนไม่ใช่เรื่องของอุทานเฉยๆ อย่างอยู่ๆคนไม่สบายในกรณีที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น อยากตายเหลือเกิน จริงๆตรงนี้ถ้ามองในหลักการศาสนาแล้ว ถ้าหากว่าเราอยากตายเพราะมันจน ถ้าเราอยากตายเพราะว่าเจ็บป่วย อยากตายเพราะว่าเราในมีหนี้สินเยอะ ถ้ากรณีอย่างงี้ถือว่าหะราม แปลว่า ต้องห้าม เพราะเราอยากตาย อันนี้เป็นอาลามะห์เครื่องหมายชนิดหนึ่งเหมือนกันของวันกิยามะห์คือ วันสิ้นโลก เพราะนบีบอกว่า “วันสิ้นโลกจะไม่เกิดขึ้นจนกว่า คนหนึ่งไปเจอกุโบร์แล้วบอกว่าอยากตายเหลือเกิน” แปลว่ามันจะได้พ้นทุกข์ไง กรณีอย่างนี้ ถ้ามันเกิดขึ้นในเรื่องของดุนยา เรื่องของโลกนี้ เรื่องของความเจ็บป่วย เรื่องของการมีหนี้สิน เรื่องของอะไรที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินของเรา บ้านของเรา ตัวของเรา การเจ็บป่วย ถ้าเราอยากตายเพราะเหตุเหล่านี้ถือว่าต้องห้าม ทำไม่ได้
แต่หากว่าเราอยากจะตาย เพราะเราอยู่ไปมันจะเกิดทำให้อีหม่านของเรามันหดหาย ถ้ามันจะเกิดฟิตนะห์ เกิดความวิกฤตในเรื่องของการศรัทธาเราแล้ว เราขอตายได้ เหมือนอย่างกับท่านนบี(ซ.ล.) เคยขอต่ออัลลอฮฺ ความว่า “ข้าแด่อัลลอฮฺ ขอให้พระองค์ให้ข้าพระองค์ชีวิตอยู่ต่อไป ถ้าหากว่าการมีชีวิตอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ดีงามสำหรับฉัน และขอให้พระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ได้ตายเถอะ หากว่าการตายของฉันมันเป็นสิ่งที่ดีกว่าสำหรับฉัน” อันนี้ก็เป็นหลักฐาน เกี่ยวกับว่าหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา หากว่าเราอยู่ไปแล้วในความมีอีหม่านของเรามันหายไป เกิดวิกฤต อย่างท่านอุมัรบินค๊อตต๊อบ เมื่อตอนอยู่ในช่วงสมัยของปลายของการมีชีวิตของท่านแล้ว คือหมายความว่าเมื่อตอนมีอายุมากแล้ว ตอนใกล้จะตาย ท่านเคยขอดุอาอฺ(ขอพร)ต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) ขณะนี้นั้นผู้คนที่ตนต้องรับผิดชอบมันขยายมากขึ้น เพราะอาณาจักรอิสลามขยายดินแดนกว้างขวางมากขึ้น อายุของฉันก็มากขึ้น ร่างกายของฉันก็อ่อนแอลง อาจจะไม่ทำให้ภารระหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายนั้นได้ปฏิบัติได้เต็มที่ ขอให้พระองค์ให้ข้าพระองค์กลับสู่พระองค์เถิด หมายความว่า กลัวว่าสิ่งที่ตนรับผิดชอบนั้นมันจะบกพร่อง เพราะในสมัยท่านอุมัรเป็นสมัยซึ่งที่มีการขยายอาณาเขตอิสลามอย่างกว้างขวาง เขาเรียก อัสรุ้ลฟุตูฮาด หมายความว่าเป็นสมัยการเปิดการขยายอาณาเขตอิสลามมากมาย ตอนนั้นท่านก็บอกว่า อาณาเขตมันกว้างไกลไป ร่างกายก็อ่อนแอ อายุก็มาก และอาจจะไม่สามารถดำรงไว้ซึ่งความถูกต้อง ดำรงไว้ซึ่งความรับผิดชอบได้อย่างครบสมบูรณ์ขอให้พระองค์เอาชีวิตกลับไปเถอะ หรือแม้แต่ท่านอาลีอิบนุอะบีตอลิบเองก็ตาม เมื่อตอนที่มีปัญหาในช่วงท้ายของท่านก็เหมือนกัน มีปัญหาเรื่องทางการเมืองบ้าง เรื่องของความรับผิดชอบในทางการบริหาร บาง ท่านกลัวจะเกิดฟิตนะห์ กลัวเกิดภาวะทำให้คนนั้นได้ห่างไกลจากศาสนา กลัวว่าศาสนาที่มีอยู่ในประชากรในยุคท่านมันจะเปลี่ยนแปลงไป ท่านก็ขอให้ท่านนั้น กลับไปสู่อัลลอฮฺ ขอให้คนอื่นรับผิดชอบต่อ แม้แต่ท่านอะหมัด อิบนูฮัมบัล ท่านขอดุอาอฺ(ขอพร)ทุกเช้า ทุกเย็น ขอให้ตายเถิด ถ้าหากว่าความตายจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่า ในเรื่องศาสนาน่ะ นั้นหมายความว่า โดยหลักการแล้ว การอยากตาย การขอให้ตัวเองตาย ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดุนยา เรื่องโลกนี้ เช่น การเจ็บป่วย ความยากจน เรื่องปัญหาหนี้สิน ครอบครัว อยากตายเพื่อให้ได้พ้นทุกข์ จริงๆเป็นข้อห้ามในหลักการศาสนา แต่ถ้าหากว่ามันเป็นเรื่องที่ดูไปแล้วมันเกิดวิกฤต ฟิตนะห์มากมาย เราเป็นคนรับผิดชอบอยู่ แต่ว่าไม่สามารถที่จะแก้ไข ตรงนี้ได้ เพราะจะทำให้การที่มีศรัทธานั้นมันลดน้อยลง หรือมันหายไปก็ขอให้ตายได้ อย่างกับบรรดาซอฮาบะห์(บรรดาสาวก)ทั้งหลายก็ได้ปฏิบัติมา
ดังนั้น ตรงนี้คำพูดของเราที่ออกไป มันเป็นสิ่งที่เราจะต้อง ไตร่ตรอง จะต้องกลั่นกรอง มีคำสอนอยู่มากมาย แม้กระทั่ง อัลกุรอานยังเคยได้สอนว่า อัลลอฮฺ(ซบ.)ทรงให้เรามีหูสองข้าง แล้วก็ให้ปากมาเพียงปากเดียว นั้นแปลว่าต้องการให้พูดให้น้อย แล้วก็ให้ฟังให้เยอะ แล้วพระองค์ยังให้สมองมาอีกให้คิดด้วย ดังนั้น ตรงนี้ก็เป็นข้อคิดสำหรับพี่น้องเราว่า ควรจะฟัง คิดให้มาก อย่าได้พูดมากในเรื่องที่ไม่สอดคล้องกับหลักการศาสนา
สิ่งที่ผมกลัวมากในเวลานี้ ในสังคมเยาวชนของเรา คือการโพสต์ การพูดของเด็กวัยรุ่นปัจจุบันนี้ เขาเรียกว่ามันเกิดวิกฤตทางภาษาไทย ผมไม่รู้ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ที่สอนภาษาไทยเขาคิดอย่างกับผมหรือเปล่า แต่ผมคิด ในเวลานี้มันมีภาษาวิปริตออกมาเยอะ แล้วก็โพสต์ออกไปมันไม่ถูกต้องตามหลักภาษาไทย แล้วก็ยังใช้กันอยู่โดยแพร่หลาย เช่น โพสต์ว่า “ขอบคุงฮาฟ” “น่ารักจุงๆเลย” เป็นต้น ผมเป็นห่วงเท่านั้นเอง ไม่ได้ไปห้ามวัยรุ่นหรอก อันนี้เป็นเรื่องภาษาไทยที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องศาสนา
สุดท้ายก็อยากจะบอกว่า ทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นคำอุทาน การกล่าวคำใดๆก็ตาม คำอุทาน หรือคำที่ออกจากปากเยาวชน หรือว่า ของพวกเราเองก็ตาม ประการแรกจะต้องมีการไตร่ตรอง จะต้องคิด บางที่อาจจะไม่ได้คิด ตรงนี้มันเป็นความเคยชิน สัญชาตญาณที่มันเกิดขึ้น การที่จะเกิดสัญญาณตรงนี้ก็ต่อเมื่อว่า เราเคยชินต่อการปฏิบัติอย่างนี้มาแต่เยาว์วัย ฉะนั้นคนที่เป็นพ่อแม่ควรที่จะมีการฝึก บางทีลูกของเราออกไปเรียนหนังสือต่างถิ่น ออกไปนอกบ้าน ไปรับคำอะไรต่างๆมา พอลูกเอากลับมาแล้ว บางทีเราต้องบอกลูก เราต้องเตือน ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลยแล้วลูกก็จะเกิดความเคยชิน เมื่อเกิดความเคยชินแล้วนี้ มันก็จะกลายเป็นนิสัย การเป็นนิสัยมันก็จะกลายเป็นเรื่องที่ออกมาเองตามธรรมชาติของเขา เพราะมันอยู่ข้างในอยู่แล้ว ฉะนั้นเราจะต้องพยายามให้พ่อแม่ได้คำนึงถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับลูกหลานของเราในอนาคตต่อไป ไม่ว่าถ้อยคำที่เราพูด ถ้อยคำที่เราอุทาน ถ้อยคำที่เราเปรย ถ้อยคำที่เราเขียน ถ้อยคำที่เราโพสต์ อะไรออกไปก็ตาม เป็นเรื่องที่เราจะต้องพยายามให้อยู่ในกรอบ แน่นอนอะไรก็ตามที่เราไม่ได้ตั้งใจ สิ่งที่เรียนไปตั้งแต่ต้น สิ่งที่เราไม่ตั้งใจก็จะไม่เป็นบาป แต่มันอาจเป็นความไม่สุภาพ ความไม่งาม ดูแล้วไม่งามมันก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่เราจะต้องมาฝึก ที่เราจะต้องมาเตือนกัน บางทีคำที่พูดออกไป นอกเหนือจากสัปดน นอกเหนือจากหยาบคายแล้ว มันอาจจะเป็นถ้อยคำที่ไปยืมศาสนาอื่นเขามาใช้ ก็ต้องดูเจตนา ต้องดูความตั้งใจ ต้องดูถ้อยคำ ต้องดูประโยคว่ามันผิดหรือไม่อย่างไร พอเราฟังไปแล้ว ไม่รู้ว่าเขาตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ อันนี้เราฟังแล้วเราบอกไปว่ามันบาป อันนี้ก็คงจะไม่ได้ เพราะว่า การจะบาปแล้วอยู่ๆไปบอกว่าบาป มันต้องมีที่มาที่ไปแล้วก็ต้องดูเจตนารมณ์ด้วยเป็นประการสำคัญ อยากจะฝากกับทุกท่านเอาไว้ว่า เรื่องของคำพูด คือ ลิ้นของเรา มันสำคัญ มันเป็นชิ้นส่วนเล็กๆในร่างกายของเรา แต่มันจะมีผลมหาศาลกับตัวเรา กับสังคม กับประเทศชาติของเรา งั้นขอให้เราระวังรักษา ท่านนบีเคยบอกว่าลิ้นนี้มันสามารถที่จะสามารถให้เกิดผลให้เราตกนรกได้ มีคนเคยถามว่า ทางที่ปลอดภัยที่สุด คืออะไร ปลอดภัยในความเป็นมนุษย์ ปลอดภัยในการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้คืออะไร นบีเคยถูกถาม ความปลอดภัยคืออย่างไร นบีจับลิ้นแล้วบอกว่า จงจับลิ้นเอาไว้ หมายความว่าจงยับยั้งการพูด อย่าได้พูดในสิ่งซึ่งไม่ถูกต้อง อย่าได้พูดสิ่งที่ทำลายคนอื่น อย่าได้พูดในสิ่งซึ่งที่จะละเมิดในสิทธิคนอื่น นบีบอกจับลิ้นเอาประการที่หนึ่ง ประการที่สอง ต้องให้บรรยากาศในบ้านมันมีแต่บรรยากาศของอิสลาม สร้างความกว้างขวาง สร้างความร่มรื่น ให้กับบรรยากาศในบ้าน ประการที่สาม จะต้องร้องไห้เสียใจกับความผิดพลาดของเราที่ผ่านมา แปลว่าทางรอดของมนุษย์ที่นบีแนะนำในคราวนี้มีสามอย่าง อย่างที่หนึ่งคือ ยับยั้งคำพูดของเรา พูดให้น้อย ถ้าจะพูดก็ต้องพูดในสิ่งที่ดีงาม สองทำให้บ้านของเรามีบรรยากาศของอิสลาม คำว่าบรรยากาศในอิสลาม คือ พอถึงเวลาละหมาดก็ชวนลูกหลานละหมาดกัน เวลาพูดจาก็ต้องพูดจาด้วยดี ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้งกัน ไม่มีการอิจฉาริษยากัน นี้คือมีความสุข ปลอดภัย ประการที่สามก็คือว่า จะต้องเสียใจถ้าหากว่าเราเกิดความผิดพลาด มนุษย์ทุกคนมีความผิดพลาดกันทั้งนั้น แต่เมื่อเกิดความผิดพลาดแล้วเราต้องเสียใจร้องไห้ แล้วเราก็ต้องกลับตัวกลับใจ นี้ก็เป็นทางรอดของมนุษย์ทุกคน แล้วก็ไม่ใช่เฉพาะมุสลิมน่ะ ทางรอดของทุกคนของโลกนี้ก็คือยับยั้งคำพูด ไตร่ตรอง พูดในสิ่งที่ดีงาม สร้างบรรยากาศในบ้านที่ดี แล้วก็กลับตัวกลับใจเมื่อตัวเองทำผิดพลาดมา ทั้งหมดนี้ก็เป็นสิ่งที่อยากจะพูดว่าด้วยความเป็นห่วง ด้วยความรักแก่คนทุกคน แล้วก็ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่นับถือศาสนานั้น ศาสนานี้ แต่โดยเฉพาะมุสลิม เขาจะมีถ้อยคำต่างๆสอนเอาไว้ เมื่อเห็นสิ่งที่แปลกประหลาด ควรจะว่าอะไรในสิ่งที่ไม่ดีงาม หรือว่าควรจะว่าอะไรในสิ่งที่ดีงาม เมื่อเกิดเหตุการณ์คับขันควรจะว่าอะไร ที่เราเรียกว่าซิเกร การระลึกถึงคือข้อสำคัญที่สุดก็คือว่า ไม่ว่าเราจะอยู่ในอากัปกริยาใดก็ตาม ให้เรารู้ว่าเรายังเป็นมุสลิม เรายังมีอัลลอฮฺอยู่ เท่านั้นก็เป็นการพอแล้ว
ขอขอบคุณ อาจารย์ประสาน(ชารีฟ) ศรีเจริญ