
การถือศีลอด “อัซเซาม์” ในทางภาษาคือ การยับยั้งจากสิ่งหนึ่ง และละเว้นไม่กระทำสิ่งนั้น เช่น ผู้อดกลั้นจากอาหาร เครื่องดื่ม และการประเวณี หรือไม่พูดจา เป็นต้น เรียกอาการเหล่านี้ว่า “ซอฮิม” ผู้ถือศีลอด ในทางภาษา
ในทางศาสนบัญญัติหมายความว่า “การงดเว้นจากสิ่งที่ถูกจำกัด (การกิน การดื่ม การประเวณี และอื่นๆ) โดยมีเจตนาต่อการนั้น นับจากแสงอรุณครั้งที่สองขึ้นจนกระทั่งดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จากบุคคลที่จำกัด (คือ มุสลิม บรรลุศาสนภาวะ มีสติสัมปชัญญะ มีความสามารถ คนไม่เดินทาง ไม่มีเฮดและนิฟาส” ดังนั้น การถือศีลอดจึงไม่เป็นการบังคับสำหรับคนที่มีเหตุขัดข้องทางศาสนา ทว่าต้องมีการชดใช้เมื่อข้อขัดข้องนั้นหายไป ดังจะได้กล่าวในโอกาสต่อไป)
2. ท่านได้กล่าวในคำจำกัดความว่า “แสงอรุณครั้งที่สอง” นั้นหมายความว่า ต้องมีแสงอรุณครั้งที่หนึ่งใช่หรือไม่? และมันแตกต่างกันอย่างไร?
ตอบ แน่นอน แสงอรุณมีสองครั้ง ครั้งที่หนึ่งเรียกว่า “แสงโกหก” หรือ “ฟะญัรกาซิ๊บ” แสงอรุณนี้จะเป็นแสงขาวละเอียดพุ่งตรงขึ้นท้องฟ้าจากทิศตะวันออกเหมือนกับหางสุนัขจิ้งจอก แสงอรุณนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ ในหลักการศาสนาอิสลาม ถือว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของกลางคืน จะยังไม่ถึงเวลาละหมาดซุบฮิ ไม่ห้ามที่จะกินและดื่มสำหรับคนที่จะถือศีลอด แสงนี้สักพักมันจะหายไป ส่วนแสงอรุณครั้งที่สองเรียกว่า “แสงจริง” หรือฟะญัรซอดิก” มันเป็นแสงที่สาดกระจายขึ้นท้องฟ้าเป็นวงกว้าง จากทิศตะวันออก แสงนี้จะไม่หายไปแต่มันค่อยๆ สว่างจ้าขึ้นบวกกับแสงดวงอาทิตย์ที่ขึ้นมาต่อจากนี้ มันจึงเป็นรอยต่อระหว่างกลางวันกับกลางคืน ตามเจตนารมณ์ของอัลกุกุรอานที่ว่า
“และพวกเจ้าจงกินและดื่มจนกระทั่งพวกท่านมีความชัดเจนต่อเส้นสีขาวจากเส้นสีดำจากแสงอรุณ จากนั้นให้พวกเจ้าทำให้เกิดความสมบูรณ์ต่อการถือศีลอดจนถึงกลางคืน” อัลบากอเราะห์ โองการที่ 187
ดังนั้น เมื่อแสงอรุณครั้งที่สองขึ้นก็นับว่าเข้าเวลาละหมาดซุบฮิ และผู้ถือศีลอดจะต้องงดสิ่งที่ทำให้เสียศีลอดทั้งปวง ท่านนบีมูฮัมหมัด(ซ.ล.) กล่าวความว่า : “ฟะญัร(แสงอรุณ) นั้น มีสอง คือ ฟะญัรที่ขึ้นกลางคืน ยังอนุญาตให้กิน ดื่มได้ แต่ไม่อนุญาตให้ละหมาดซุบฮิ และอีกฟะญัรหนึ่ง ที่เมื่อมันขึ้นมาแล้ว อนุญาตให้ละหมาด ห้ามกินและดื่ม แสงอรุณนี้ คือ มันจะกระจายแสงทั่วยอดเขา” บันทึกโดยอิบนุมาญะห์ บัยฮะกี และดาร่อกุฎนี
ขอขอบคุณอาจารย์ประสาน(ชารีฟ) ศรีเจริญ