ทหารแผ่นดินหะรอมขัดขวางไม่ให้ฮุจญาตทำชิริกบนภูเขาอารอฟะห์
ช่วงระหว่างการประกอบพิธีฮัจย์ ฮ.ศ.1439 ที่ผ่านมา มีบรรดาฮุจญาตกระทำสิ่งที่เป็นภาคี (ชิริก) ต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) โดยการขอความสิริมงคลเเละขอดุอาอฺจากเสาหินสีขาวที่อยู่บนยอดภูเขาอารอฟะห์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าห้ามปรามและสกัดกั้น พยายามชี้เเจงทำความเข้าใจเเก่บรรดาฮุจญาตว่าเสาต้นนี้ไม่มีความพิเศษใดๆเลย มันเป็นเเค่เสาหินเท่านั้น ไม่สามารถที่จะให้คุณให้โทษแก่ผู้ใดได้เลย !
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเรามาทำความเข้าใจกันว่าเสาหินบนภูเขาอารอฟะห์คืออะไร ทำไมผู้คนจึงเข้าใจผิดไปทำชิริกกันได้ สกู๊ปข่าวฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก “อาจารย์อับดุลอาซีซ(อำนาจ) มะหะหมัด” หัวหน้าศูนย์ศึกษาโลกมุสลิม สถาบันวิทยาการอิสลามและอาหรับศึกษา ม.รังสิต ผู้รับใบอนุญาตสถานพัฒนาอัจฉริยภาพเด็กฮานีน คลองหลวง จ.ปทุมธานี และประธานมุสลิมศรีปทุมมูลนิธิ ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ช่วยชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว
อารอฟะห์ คือ ภูเขาที่ตั้งอยู่ห่างจากนครมักกะห์ประมาณ 22 กิโลเมตร และห่างจากมีนาประมาน 10 กิโลเมตร และห่างจากมุซดะริฟะฮฺประมาน 6 กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดของบรรดาฮุจญาต(ผู้ไปแสวงบุญ) ที่นครมักกะห์เมื่อถึงวันที่ 9 ของเดือนซุลฮิจยะห์ ก็จะรวมตัวกันอยู่ในทุ่งอารอฟะห์ตั้งแต่ตอนบ่ายจนตะวันตกดิน ในการใช้ประกอบพิธีฮัจย์ ซึ่งถูกเรียกว่า การวุกูฟ และการวุกุฟที่อารอฟะห์ถูกนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการประกอบพิธีฮัจย์ เสมือนกันที่ท่านนบีกล่าวว่า ฮัจย์คือการวุกูฟที่อารอฟะห์
อารอฟะห์ แปลว่า การทำความรู้จัก และผู้คนที่หลั่งไหลมาจากทั่วทิศรอบโลกมาทำความรู้จักกันในสถานที่นั้น จึงเป็นสาเหตุที่มีชื่อเรียกว่า อารอฟะห์ บางรายงานได้มีบันทึกว่า ท่านศาสดาอาดัม(อ.ล.) และท่านหญิงฮาวา(อ.ล.) ก็ได้กลับมาพบกันอีกครั้งในสถานที่แห่งนี้ หลังจากที่ได้พลัดพรากจากกันมาจากสรวงสวรรค์ ด้วยเหตุนี้เอง สถานที่แห่งนี้จึงถูกเรียกว่า “อารอฟะห์ ” และวันที่ 9 เดือนซุลฮิจยะห์ถูกเรียกว่า “วันอารอฟะห์ ” และสำหรับมุสลิมทั่วไปที่ไม่ได้ไปแสวงบุญ ณ แผ่นดินฮารอม แต่ศาสนาก็ส่งเสริมให้มีการถือศีลอด เนื่องจากว่าในวันอารอฟะห์ เป็นวันซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ(ซ.บ.) ได้ทรงเชิญชวนปวงบ่าวของพระองค์ให้เข้าสู่การเคารพภักดีพระองค์ พระองค์ได้ทรงเปิดประตูแห่งการปฏิบัติคุณงามความดีให้กับปวงบ่าวของพระองค์ในวันดังกล่าว และเป็นวันซึ่งบรรดาชัยฏอนมารร้ายต่างกรีดร้องด้วยความโหยหวน เนื่องจากความโกรธ และความต่ำต้อยที่พวกมันได้รับในวันนี้ ท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวความว่า:
“การถือศีลอดในวันอารอฟะห์ นั้น ข้าพเจ้าหวังว่า อัลลอฮฺ จะทรงลบล้างความผิดในปีที่ก่อนวันอารอฟะห์ และในปีหลังจากวันอารอฟะห์ ” รายงานโดยมุสลิม
ท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวเช่นกันว่า
“ไม่มีวันใดที่อัลลอฮฺจะปลดปล่อยบ่าวของพระองค์จากไฟนรกที่จะมากไปกว่าวันอารอฟะห์” รายงานโดยมุสลิม (1976)
เสาหินบนยอดเขาอารอฟะห์คืออะไร?
เป็นเสาหินที่ถูกสร้างโดยมนุษย์ มีเป้าหมายเพื่อการจำเเนกภูเขาอารอฟะห์ออกจากภูเขาลูกอื่นๆ เพียงเท่านั้น ไม่ได้มีเป้าหมายใดอื่นจากนี้เลย เวลาผ่านไปก็มีบรรดาผู้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์เเละอุมเราะห์บางส่วนจากสัญชาติต่างๆ ได้ไปทำอุตริ คือบางคนไปขอความสิริมงคลจากเสาต้นนี้ บางคนได้ไปยืนต่อหน้า เเล้ววิงวอนขอดุอาอฺ ขอความช่วยเหลือ มีทั้งที่ทำไปเนื่องด้วยไม่มีความรู้เเละตั้งใจกระทำ ซึ่งการกระทำเช่นนี้ เป็นการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าระวังไม่ให้ผู้คนเข้าถึงเสาดังกล่าว แต่ถ้าไปเพียงแค่ไปดู หรือเยือนสถานที่สำคัญเท่านั้นก็ไม่เป็นไร แต่นี่เข้าข่ายทำชิริก ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่
เป้าหมายสูงสุดของการประกอบพิธีฮัจย์
“พี่น้องฮุจญาตที่รัก ท่านได้มาอยู่ในช่วงเวลาที่ประเสริฐ บนหน้าพื้นแผ่นดินที่ดีที่สุดบนโลกใบนี้ ท่านจงใช้เวลาที่มีอยู่ตรงนี้เพื่อปฏิบัติคุณงามความดีให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมีความสามารถ ท่านทั้งหลายต่างก็เสียสละทุ่มเททุนทรัพย์จำนวนมหาศาลเพื่อเดินทางไปยังสถานที่อันบริสุทธิ์แห่งนี้เพื่อประกอบศาสนกิจอันยิ่งใหญ่ที่เป็นหนึ่งในรุก่นหลักของศาสนาอิสลาม นั่นคือ “การประกอบพิธีฮัจย์” โดยการเริ่มตั้งแต่การครองเอี๊ยะห์รอมไปจนถึงการตักซีร และจากอารอฟะห์ไปจนถึงญะมะร๊อต แต่ละขั้นตอนนั้น ชิริกเจว็ดทั้งภายนอกและภายในจิตใจจะร่วงหล่น และการยึดติดต่าง ๆ จะถูกทำลายลง
ดังนั้นต้องตระหนักอยู่เสมอว่าเป้าหมายสูงสุดของการประกอบพิธีฮัจย์คือ “อัตเตาฮีด” นั่นคือการมอบถวายการประกอบอิบาดะห์ทุกอย่างเเด่พระองค์อย่างศิโรราบ โดยไม่มีสิ่งใดมามีส่วนร่วมในชนิดใดของอิบาดะห์ ไม่ว่าจะเป็นการละหมาด การขอดุอาอฺ การขอความช่วยเหลือ การขอความคุ้มครอง การขอการปัดเป่าในยามตกทุกข์ได้ยาก เเละอื่นๆ อัลลอฮฺ(ซบ.) ทรงตรัสความว่า :
“และจงรำลึกเมื่อเราได้ชี้แนะสถานอัลบัยต์(บัยตุลลอฮฺ)แก่อิบรอฮีมว่า “เจ้าอย่าตั้งภาคีต่อข้าแต่อย่างใด และจงทำบ้านของข้าให้สะอาดสำหรับผู้มาเวียนรอบ ผู้ยืนละหมาด ผู้รุ่กัวะอฺ และผู้ซูญูด” (ซูเราะห์อัล-ฮัจย์ อายะห์ที่26)
จึงอยากให้พี่น้องได้ตระหนักต่อประการนี้ให้มาก เพื่อที่เงินทองที่พี่น้องได้ใช้จ่ายไปมันจะได้ไม่สูญเปล่า ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อที่พี่น้องจะได้ไม่มีการทำชิริกต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) ซึ่งเป็นบาปใหญ่ที่สุดที่จะทำให้การงานทั้งหมดเป็นโมฆะ เเละท้ายที่สุดมันทำให้บุคคลหนึ่งๆ ต้องอยู่ในนรกอย่างตลอดกาล ! ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเลย !
โทษของผู้ทำชิริก (ตั้งภาคี)
ศาสนาอิสลามถือว่าชิริกหรือการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) นั้นเป็นความชั่วที่ร้ายแรงที่สุดและเป็นบาปที่ใหญ่ที่สุดในบรรดาบาปทั้งหลาย ดังที่ท่านนบี (ซ.ล.) ได้กล่าวความว่า “เอาไหมฉันจะบอกแก่พวกเจ้าถึงสิ่งที่เป็นบาปใหญ่ที่สุดในบรรดาบาปใหญ่ทั้งหลาย(สามครั้ง)?” ซอฮาบะห์ตอบว่า “แน่นอน โอ้ท่านรอซูลุลลอฮฺ” ท่านได้ตอบว่า “(นั่นคือ)การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ” (บันทึกโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม)
สำหรับโลกดุนยานี้
ไม่ได้รับการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ(ซบ.) ในบรรดาบาปทั้งหลายนั้นชิริกคือบาปชนิดเดียวที่อัลลอฮฺจะไม่ทรงให้อภัยนอกจากว่าผู้ที่ทำชิริกต้องทำการเตาบัตกลับเนื้อกลับตัวอย่างจริงจังและด้วยความบริสุทธิ์ใจ อัลลอฮฺ(ซบ.) ตรัสไว้ความว่า
“แท้จริงอัลลอฮฺ จะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้มีภาคี ขึ้นแก่พระองค์และพระองค์ทรงอภัยให้แก่สิ่งอื่นจากนั้นสำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่อัลลอฮฺแล้วแน่นอนเขาก็ได้อุปโลกน์บาปกรรมอันใหญ่หลวงขึ้น” (ซูเราะห์อัน-นิซาอฺ อายะฮฺที่ 48)
ความว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้เป็นภาคีกับพระองค์ แต่พระองค์จะทรงอภัยโทษให้ซึ่งสิ่งอื่นจากนั้นสำหรับผู้ที่พระองค์ประสงค์ และผู้ใดให้มีภาคีขี้นแก่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอน เขาก็ได้หลงทางไปแล้วอย่างไกล” (ซูเราะห์อัน-นิซาอฺ อายะฮฺที่116
และความดี ผลบุญกลายเป็นผุยผง นอกจากอัลลอฮฺจะไม่ให้อภัยแล้ว การงานความดีที่ทำมาแม้ว่าจะมากมาย ใหญ่โต ขนาดไหน ก็มลายหายไปกลายเป็นผุยผงได้ ถ้าทำชิริก ดังที่ อัลลอฮฺ ได้ตรัสไว้ความว่า “และเรามุ่งสู่ส่วนหนึ่งของการงานที่พวกเขา(บรรดาผู้ตั้งภาคี)ได้ปฏิบัติไป แล้วเราจะทำให้มันไร้คุณค่ากลายเป็นละอองฝุ่นที่ปลิวว่อน” (ซูเราะห์ อัล-ฟุรกอน 23)
สำหรับโลกหน้า อาคิเราะห์
การตัดสินของเขาในโลกหน้าคือ ผู้ที่ตั้งภาคีจะถูกห้ามมิให้เข้าสวรรค์ และจะต้องเป็นชาวนรกที่ต้องอยู่ในนรกตลอดกาล
“แท้จริงผู้ใดที่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ(ซบ.) แน่นอน อัลลอฮฺ(ซบ.) ได้ห้ามสวนสวรรค์แก่เขา และที่พำนักของเขาก็คือ นรก
และสำหรับบรรดาผู้ที่อธรรม จะไม่ได้รับการช่วยเหลือใด”
ฝากถึงพี่น้องมุสลิม
“สำหรับพี่น้องฮุจญาตแน่นอนสถานะพี่น้องที่มาประกอบพิธีฮัจย์ ศาสนพิธีต่างๆ ของฮัจย์นับจากจุดเริ่มต้นไปจนถึงการสิ้นสุด คือแบบแผนต่างๆ ในทางปฏิบัติ สำหรับการพัฒนาและการยกระดับการศรัทธาของผู้แสวงบุญไปสู่ระดับของการยอมจำนน (ตัสลีม) การบังคับจิตใจของตนสู่การปฏิบัติกิจการต่างๆ ที่สวนทางกับความเคยชินทั้งหลายของมนุษย์ (เช่น การปลดเปลื้องอาภรณ์และสวมใส่ผ้าสองชิ้นในการครองเอี๊ยะห์รอม และการหลีกห่างจากข้อห้ามทั้งหลายของการครองเอี๊ยะห์รอม) และการกระทำภารกิจต่างๆ ที่จิตใจของมนุษย์จะไม่ได้รับความสุขหรรษาและความเพลิดเพลินจากมัน แต่จะช่วยเสริมสร้างจิตวิญญาณแห่งการยอมจำนนให้เกิดขึ้นในตัวผู้บำเพ็ญฮัจย์ ซึ่งจะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในพฤติกรรมและจิตวิญญาณของบรรดาผู้บำเพ็ญฮัจย์ได้ ภายหลังจากการบำเพ็ญฮัจย์นั้นเอง แต่สำหรับบางคนกลับไปในสภาพที่ไม่ได้รับการอภัยโทษ หรือไม่ได้รับอะไรเลย นอกจากความเหน็ดเหนื่อย สิ่งสำคัญจะต้องคำนึงถึงเสมอว่า เรามาในสภาพมีความผิดจากภูมิลำเนาบ้านเกิด ทำไมไม่ชำระล้างบาปให้ขาวสะอาด หรือจะกลับไปในสภาพเดิมซึ่งไม่ต่างอะไรกับสภาพที่มา”
“ดังนั้นในเมื่อพี่น้องเดินทางไปยังเเผ่นดินที่บริสุทธิ์เเละมีเกียรติที่สุดเเล้ว อีกทั้งพี่น้องก็มีความหวังที่จะกลับมาในสภาพที่บริสุทธิ์เสมือนวันที่ออกจากครรภ์มารดา ก็อย่าได้ไปยุ่งเกี่ยวกับพฤติกรรมที่เป็นชิริกที่มัวหมองใดๆ เลย จงเปลี่ยนแปลงบัญชีด้วยการตักตวงความดี และขออภัยโทษต่อพระองค์ เพื่อจะให้ชีวิตบริสุทธิ์อีกครั้ง ดั่งเด็กทารกที่คลอดออกมาใหม่ วันนี้ยังไม่สาย เริ่มต้นกันใหม่ อัลลอฮฺ (ซบ.) รอให้เราท่านทั้งหลายเตาบัตอยู่”
ขอขอบคุณ อาจารย์อับดุลอาซีซ(อำนาจ) มะหะหมัด
หัวหน้าศูนย์ศึกษาโลกมุสลิม สถาบันวิทยาการอิสลามและอาหรับศึกษา ม.รังสิต
ผู้รับใบอนุญาตสถานพัฒนาอัจฉริยภาพเด็กฮานีน คลองหลวง จ.ปทุมธานี
ประธานมุสลิมศรีปทุมมูลนิธิ ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี