ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม คณบดีวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ร่วมกับ ดร.บัณฑิต อารอมัน ผู้ช่วยคณบดี ร่วมเข้าการประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมเอเชีย (Asian Islamic Universities Association) เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาความก้าวหน้าด้านการศึกษา เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรมกระบี่ฟอร์นเบย์รีสอร์ท จ.กระบี่ โดยมี Prof. Dr. H. Mujiburrahman M.A นายกสมาคมฯ Prof. Dato Dr. Wan Sabri Bin Wan Yusof เลขาธิการสมาคมฯ และ ผศ.ดร.สุกรี หลังปูเต๊ะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาตอนี ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น
การประชุมในครั้งนี้มีอธิการบดี รองอธิการบดี คณบดี และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายที่เป็นสมาชิกกว่า 30 มหาวิทยาลัย จาก 6 ประเทศ ทั้งจากบรูไน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย มัลดีฟส์ และไทย โดยวิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้เป็นหนึ่งในสมาชิกของสมาคมฯ และเป็นสถาบันการศึกษาแห่งเดียวในภาคกลางที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมเป็นสมาชิก
การประชุมดังกล่าวมีประเด็นที่น่าสนใจทั้งในเรื่องการแลกเปลี่ยนนักศึกษา (Student Exchange Mobility) การแลกเปลี่ยนนักวิชาการ (Scholar Exchange Mobility) ซึ่งปัจจุบันมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้ความสำคัญและมีความเห็นตรงกันว่า การรวมกลุ่มมหาวิทยาลัยจะเป็นประโยชน์ต่อการจัดอับดับมหาวิทยาลัยที่จะส่งผลเกื้อกูลทั้งในมิติของการขยายความร่วมมือทางการศึกษา การสร้างมิติของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวัฒนธรรม และการส่งเสริมโอกาสให้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยได้รับศาสตร์แห่งความรู้ที่หลากหลายเป็นประโยชน์โดยตรงกับวิชาและหลักสูตรที่เรียน ตลอดจนกระตุ้นการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนระหว่างกันมากยิ่งขึ้น
การประชุมสมาคมมหาวิทยาลัยมุสลิมเอเชีย (Asian Islamic Universities Association) มีความสำคัญเนื่องจากเป็นการจัดประชุมภายใต้เจตนารมณ์ของการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่ต้องใช้เครือข่ายเป็นตัวขับเคลื่อนการศึกษาไปพร้อมกับการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความเป็นนานาชาติมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้องใช้ความมือจากสถาบันที่หลากหลาย ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ จากบรรดานักวิชาการ โดยสมาคม ฯ แห่งนี้ถือเป็นโอกาสสำคัญที่จะร่วมพัฒนาวงการการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาอิสลามในทุกมิติ
ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม ได้เน้นย้ำและเล็งเห็นถึงความสำคัญของการประชุมในครั้งนี้ว่า “วิทยาลัยนานาชาติอิสลามกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกริก ได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคมฯ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญมากในการสร้างภาคีเครือข่ายระดับนานาชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการแสวงหาแนวทางการกระชับความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยในเครือข่ายผ่านการลงนามข้อตกลงบันทึกความร่วมมือ รวมถึงการจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติของวิทยาลัยด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีรายละเอียดในการปรับหลักสูตรและรายวิชาของแต่ละแห่งให้สอดคล้องกัน เพื่อให้เกิดผลนักศึกษาสามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ ซึ่งวิทยาลัยให้ความสำคัญ และมีเป้าหมายในการส่งนักศึกษาไปแลกเปลี่ยนและรับนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเครือข่ายมาร่วมเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยเกริกต่อไปในอนาคต”
ที่มา ThaiNews